หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2560

Review A LIFE WITHOUT LIMITS

รีวิว A LIFE WITHOUT LIMITS
by CHRISSIE WELLINGTON


เรื่องราวอัตชีวประวัติของ Chrissie Wellington แชมป์ ironman kona หลายสมัย และแชมป์ ironman อีกหลายรายการ ตั้งแต่ชีวิตในวัยเด็กของเธอที่เป็นนักกีฬาว่ายน้ำ เริ่มหัดขี่จักรยานจริงจังตอนไปทำงานที่ต่างประเทศ และเริ่มหัดวิ่งมาราธอนตามเพื่อนของเธอ ช่วงชีวิตที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อมาเป็นนักกีฬาอาชีพ การฝึกกับโค้ชสุดหินที่ชื่อ Bret Sutton ความสัมพันธ์อันดีและแย่กับโค้ช จนต้องแยกทางกัน เรื่องราวการฝึกของเธอเพื่อพิสูจน์ว่าเธอคือแชมป์ ironman ตัวจริง


ความรู้สึกหลังอ่าน

เล่มนี้เธอเขียนเองโดยไม่ใช้ ghost writer ส่วนตัวผมคิดว่าครึ่งเล่มแรกค่อนข้างน่าเบื่อ ยกเว้นคนที่อาจจะชอบอ่านหนังสือท่องเที่ยวการเดินทาง ผจญภัยอาจจะชอบนะ ส่วนครึ่งเล่มหลัง เป็นส่วนที่เธอตัดสินใจเป็นนักกีฬาอาชีพ น่าสนใจขึ้น ในเรื่องการฝึกซ้อมของโค้ช 
โค้ชคนแรกของเธอรู้ว่ามือไม่ถึง จึงแนะนำ โค้ช Bret Sutton ให้
ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างเลือกกัน โค้ชเลือกนักกีฬา นักกีฬาก็เลือกโค้ช ส่วนตรงนี้สำคัญมาก Bret Sutton ค่อนข้างขึ้นชื่อในการเทรนนักกีฬาระดับแชมป์อยู่หลายคน  เพราะหากชนะติดอันดับ 1-3 นักกีฬาก็ต้องแบ่งเงินรางวัลที่ชนะ 20%   Chrissie Wellington เองก็มาซ้อมเก็บตัวอยู่ที่เมืองไทยด้วย แต่เธอไม่ค่อยถนัดระยะ olympic เธอจะถนัดระยะ ironman 140.6 มากกว่า ตารางที่โค้ชให้แต่ละคนก็ต่างกัน Chrissie มักจะเกิดอุบัติเหตุก่อนแข่งอยู่หลายครั้ง แต่โค้ชก็ไม่ให้ถอนตัว ประมาณว่ากูไม่สนใจ และเธอก็ชนะเกือบทุกครั้ง ส่วนนี้ผมมองว่าร่างกายของเธอเหนือกว่าคนอื่นมาก เรียกว่าต้องแข่งกับผู้ชายถึงจะสูสีกว่า ผมอยากให้ดูปี 2011 ตอนนั้นเธอเปลี่ยนโค้ชแล้วเนื่องจากมีปัญหากันเรื่อง sponsor  เธอแข่ง ironman ที่ kona ครั้งสุดท้าย ตอนก่อนแข่ง 2 อาทิตย์ประสบอุบัติเหตุ จักรยานล้ม มีแผลอยู่หลายที่ เธอตัดสินใจลงแข่ง มาดูว่าใจเธอสู้ขนาดไหน
link youtube อันนี้ version ตัดมาเหลือ 1 ชั่วโมงนิดๆ
https://www.youtube.com/watch?v=MP6kBwisfMw

คะแนน 7.5/10

วันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2560

Review 80/20 Running

รีวิว 80/20 running
Matt Fitzgerald


หลักการของหนังสือเล่มนี้ก็คือฝึกแบบ easy 80% และ medium กับ hard รวมกัน 20% ให้ได้สัดส่วนประมาณนี้ โดยแบ่งจาก heart rate zone ซึ่ง heart rate ก็ไม่ได้แบ่ง 100% แบบนาฬิกา garmin หรือ zone 1-5 ที่ทั่วไปแบ่งกันซึ่งใช้ max heart rate เป็น 100% นะครับ เล่มนี้ใช้หลักของ จุด lactate threshold เป็น 100%  ซ้อมต่ำกว่า lactate threshold ที่ 96% ลงไป ถือเป็น easy โดยแบ่งเป็น easy zone 1 กับ 2 ส่วนที่อยู่ในช่วง 96-102% ถือเป็น medium zone 3 และส่วนที่สูงกว่านี้แบ่งเป็น zone 4 กับ 5 โดยในเล่มมีตารางการฝึกตั้งแต่ 5k 10k half และ full marathon 18 สัปดาห์ และมีอย่างละ 3 level สำหรับผู้เริ่มต้น ระดับกลาง ระดับแข่งขัน ยังมีตารางแถมสำหรับนักไตรกีฬาระยะโอลิมปิคอีกด้วย



ความรู้สึกหลังอ่าน

เน้นการฝึกและตารางเป็นหลัก ไม่มีรายละเอียดเรื่องอื่น ค่อนข้างตรงประเด็น ส่วนตัวผมเชื่อว่าเป็นการฝึกที่ถูกต้อง เพราะนักวิ่งโดยมากจะวิ่งอยู่ในโซนเดิมๆ ทำให้ได้ผลน้อยจนเกิดการพัฒนาที่ช้า อีกทั้งยังมีโอกาสเพิ่มการบาดเจ็บอีกด้วย Chrissie Wellington แชมป์ ironman ที่ kona หลายสมัย ก็ยังเคยพูดเรื่องนี้ในหนังสือของเธอ A Life Without Limits ว่า ถ้าแบ่งการฝึกไม่ชัดเจนก็จะอยู่ในโซน grey area 

การฝึกเนื่องจากใช้การวัดการเต้นของหัวใจเป็นหลัก ผู้ฝึกที่อยากได้ผลจริงอาจจำเป็นต้องมี heart rate monitor แม้ว่าจะใช้ test talk ได้ก็จริงแต่ยังขาดความแม่นยำ ผมเลยไม่อยากแนะนำ
heart rate zone หาได้โดยใช้โปรแกรมที่ในหนังสือระบุ โดยให้วิ่ง 20 นาทีบน tread mill หรือ outdoor ที่เป็นทางราบเท่านั้น แล้วจะคำนวณโซนมาให้เรา ต้องใช้ smart phone เปิด bluetooth เชื่อมต่อกับ heart rate monitor ด้วย หรืออาจจะเข้า lab เอาก็ได้ เพื่อให้ค่าแม่นยำที่สุด หากใครพบว่ายุ่งยาก ผมเคยอ่านเจอว่าเราพอจะใช้เพซที่แข่ง half marathon เป็น lactate threshold ได้อยู่ครับ แต่ต้องวิ่งด้วยเพซที่เท่าๆกันหรือใกล้เคียง ไม่ใช่ start pace 4 จบ pace 5 แล้วมาหารเฉลี่ยแบบนี้ใช้ไม่ได้นะครับ

คะแนน 9/10


วันเสาร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2560

ปัจจัยความร้อนและความชื้นต่อการวิ่ง


โดยปกติเวลาพัก อุณหภูมิที่ผิวหนังของเราจะอยู่ที่ 33 องศาเซลเซียสโดยประมาณ ดังนั้นเมื่อเราออกกำลังกายที่อุณหภูมิสูงตั้งแต่ 33 องศาเซลเซียสขึ้นไป ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนด้วยการที่อากาศจะพาความร้อนออกไปได้ ยิ่งอากาศอุณหภูมิสูงขึ้นความร้อนจะมาที่ผิวหนังเราแทน ดังนั้นวิธีเดียวที่จะสูญเสียความร้อนได้ก็คือ เหงื่อของเรานั่นเอง ถ้าอากาศแห้งเหงื่อเราจะระเหยได้ดี แต่หากอากาศชื้นมากเหงื่อเราจะระเหยออกไปไม่ได้ ทำได้อย่างมากก็แค่หยดลงพื้น ซึ่งไม่ได้สร้างความเย็นให้กับเรา ยกเว้นแต่ว่ามีลมแรงหรือวิ่งต่ำกว่าเพซ 3 (วิ่งเร็วกว่า 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) หากจะลดความร้อนจึงควรใช้ฟองน้ำ หรือเอาน้ำเย็นราดเพื่อลดอุณหภูมิ รวมไปถึงการดื่มน้ำ



การเลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่หน้าร้อน

ควรเลือกผ้าที่บางและแนบกับลำตัว เนื่องจากอากาศเป็นตัวพาความร้อนที่ไม่ดี หากเสื้อผ้าไม่แนบลำตัวจะมีอากาศร้อนขังอยู่ระหว่างเรากับเสื้อผ้า และให้ดียิ่งขึ้นควรหาเสื้อผ้าที่มีรูระบายอากาศจะทำให้อากาศทะลุเสื้อผ้าออกมา บางคนที่วิ่งเพื่อลดน้ำหนักจะใส่เสื้อผ้าหนาๆ กางเกงขายาว โดยคิดว่าจะลดน้ำหนักได้เยอะ ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะสิ่งที่เสียไปคือน้ำ เมื่อกินน้ำกลับเข้ามาก็จะได้ผลเหมือนเดิม สู้เลือกเสื้อผ้าให้ถูกต้องแล้ววิ่งได้ระยะทางไกลขึ้นหรือหนักขึ้นจะดีกว่า ร่างกายจะลดน้ำหนักได้จริงจากแคลอรี่ที่เสียไป ไม่ใช่จากการสูญเสียน้ำครับ

ข้อมูลจาก Lore of running Tim Noakes,MD


วันพุธที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560

Review the obree way

รีวิว the OBREE WAY A training manual for cyclists
by Graeme Obree


นักปั่นชาวสก็อตแลนด์ ผู้ทำลายสถิติโลก 2 ครั้ง ในการปั่น 1 ชั่วโมงให้ได้ระยะทางไกลที่สุด ผู้คิดค้นท่าปั่นจักรยานแล้วถูกแบนห้ามใช้ในการแข่งทั้ง 2 ท่า (tuck position และ superman) จนถูกนำมาสร้างเป็นหนังชื่อ the flying Scotsman ได้เขียนวิธีฝึกโดยเปิดเผยเทคนิคตั้งแต่ การหายใจ การตั้งจักรยาน การซ้อม การพัก การถีบแป้นจักรยาน การกิน รวมไปถึงจิตวิทยาในการคิดทั้งก่อนแข่งและขณะแข่ง


ความคิดเห็นหลังอ่าน

เล่มนี้ได้รับคำแนะนำจากเพื่อนสนิทที่เล่นไตรกีฬา มาเล่าให้ฟังถึงจิตวิทยาตอนแข่ง ซึ่งตอนนั้นผมอ่านหนังสือ the runner's brain อยู่ พอได้ฟัง ผมลองค้นหาข้อมูลบางส่วนใน google พบว่ามีให้อ่าน online บางหน้า อ่านแล้วรู้สึกสนใจเลยไปขอยืมเพื่อนอ่าน เพื่อนผมอ่านแบบ digital file สั่งจาก amazon

หลังจากอ่านบางบท ชอบ เลยสั่งหนังสือมา พออ่านจบต้องบอกว่าเป็นหนังสือที่อ่านแล้วรู้สึกว่าผู้แต่งจริงใจกับผู้อ่านที่สุด ชอบในความที่ผู้แต่งพยายามค้นหาวิธีที่ดีที่สุดในทุกๆเรื่อง ตั้งแต่ท่าปั่นจักรยาน การหายใจ ซึ่งปกติผมจะไม่ชอบสิ่งที่บอกว่าอะไรก็ได้ทำๆไป ผมเชื่อว่ามันมีจุดที่ดีที่สุดถ้าเราจะค้นหามัน

graeme obree ตอนทำสถิติโลกครั้งแรก
ท่า tuck position credit wikipedia

บทที่ผมชอบสุดคงไม่ใช่เทคนิคอะไร แต่เป็นวิธีการคิด ลองคิดดูว่าถ้าวันนี้เราพยายามปั่นจักรยาน 1 ชั่วโมง ให้ได้สถิติโลก แต่ทำไม่สำเร็จ ให้มาปั่นทำลายสถิติโลกใหม่ในวันรุ่งขึ้น มันยากขนาดไหน 
สำหรับ Graeme Obree แล้ว เขามองว่าความล้มเหลวแย่กว่าความตายซะอีก Obree บอกว่า ลองจินตนาการดู ถ้าตอนสมัยเด็กคุณใฝ่ฝันว่าอยากเป็นนักบินอวกาศ คุณหลงใหลว่าจะได้ท่องไปในอวกาศ ไปดาวดวงอื่น คุณพยายามเรียนอย่างหนัก และสุดท้ายคุณก็ได้เป็นนักบินอวกาศ (ที่ยังไม่ได้บิน) จนวันหนึ่งนาซ่ามาบอกคุณว่า ตอนนี้เราสร้างยานอวกาศที่จะไปดาวอังคารสำเร็จ มีโอกาสที่ไปแล้วจะรอดกลับมาแค่ 25%  แต่คุณจะเป็นมนุษย์คนแรกที่ได้ไปตาวอังคารเลยนะ คุณจะไปไหม? หลายคนคงตอบว่าไป ทีนี้ผมอยากถามว่า แล้วการที่เรายอมตายเพื่อได้ไปในอวกาศมันต่างกันการที่เรายอมตายเพื่อกีฬาที่เรารักยังไง นี่คือคำถามที่เขาเปลี่ยนความคิดของตัวเองก่อนที่จะพยายามทำสถิติโลกครั้งที่สองได้สำเร็จ

คะแนน 10/10




วันอังคารที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2560

Review I'm here to win

รีวิว I'm  Here to WIN 
by CHRIS McCORMACK with Tim Vandehey


Chris McCormack หรือ Macca แชมป์ Ironman Kona เขียนเล่าประวัติชีวิตของตัวเอง ตั้งแต่สมัยเด็ก จนถึงได้แชมป์ Ironman ที่ฮาวาย ซึ่งถือว่าเป็นที่สุดของการแข่งขัน Ironman ระดับโลกเพราะคัดแชมป์มาชนแชมป์โดยเฉพาะ กว่าจะประสบความสำเร็จได้ก็เรียกว่าท้อจนเกือบจะเลิกเลยทีเดียว เนื่องจาก Macca ตัวใหญ่ น้ำหนักเยอะ (อยู่ช่วงประมาณ 80 kg) จะเสียเปรียบในสนามที่ร้อนและชื้น ในเล่มมีตารางฝึกของเขาเอง 16 สัปดาห์ เล่มนี้จะเขียน วางแผนก่อนแข่งยังไง ตอนแข่งเขาคิดอะไรอยู่ 


ความรู้สึกหลังอ่าน
ฉายา cocky (มั่นใจในตัวเองแบบน่าหมั่นไส้) นี่ไม่ได้มาง่ายๆนะครับ ต้องบอกว่าเล่มนี้ก็ตามสไตล์คนแต่งเพราะออกจะโม้พอสมควร แต่ว่าโม้แล้วทำได้ก็แล้วไป โม้แล้วทำไม่ได้ก็โดนโจมตีหนัก ผมอ่านแล้วชอบครับ ฉายานี่ได้มาตอนที่เข้าแข่งครั้งแรกในงาน Ironman ที่ Kona มีคนสัมภาษณ์แล้วตอบว่า ผมมาเพื่อที่จะชนะ คนอื่นก็โอ้โห เพิ่งจะลงครั้งแรกเองนะ สุดท้ายก็ DNF ตามระเบียบ ตัว Macca เองก็มีปัญหาเรื่องตะคริวเกือบทุกครั้งที่ลงสนามที่ฮาวาย ซึ่งตัวผมเองก็มีปัญหาเหมือนกัน เขาก็บอกวิธีแก้ไปเรื่อยๆซึ่งได้รับคำแนะนำจากนักเพาะกาย ก็แปลกดีเหมือนกัน ที่นักไตรมาเอาวิธีแก้จากนักเพาะกาย ผมเองลองเอามาใช้ก็ดีขึ้นนะแต่ก็ยังเป็นอยู่นิดหน่อย ซึ่ง Macca เขาเองก็ยังเป็นนะ แต่ไม่หนักเท่าปีอื่นๆ สำหรับไตรกีฬาเรื่องของจิตใจนี่สำคัญพอๆกับร่างกาย   เล่มนี้อ่านจบแล้วต้องมาหา youtube ดู ตอนที่แข่งปี 2010 เลยทีเดียว ตัวเต็มโดนเรื่องลิขสิทธิ์ เลยเอาแบบที่ตัดย่อยมาให้ดูแทน อันนี้ link ของ part 1  https://www.youtube.com/watch?v=O6Q9qWWhk0U

คะแนน 8/10

หมายเหตุ 
เล่มนี้ได้มาในงาน big bad wolf books หนังสือทุกเล่มที่ผมรีวิว สามารถสั่งได้ที่ kinokuniya ในกรณีที่ไม่มีของ ทาง kinokuniya จะสั่งให้แล้วรอของประมาณ 1 เดือน แต่โดยมากแค่ 3 สัปดาห์ก็จะได้ของ ราคาจะอยู่ในช่วงค่าเงินตอนนั้น เผื่อใครบางคนไปหาแล้วไม่มี ซึ่งหลายเล่มผมก็สั่งแล้วรอเอา หรือใครอยากสั่งกับทาง amazon เองก็ได้เหมือนกันครับ 

วันศุกร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2560

Review the running revolution

 รีวิว the running revolution

Dr. Nicholas Romanov with Kurt Brungardt


Dr.Nicholas Romanov ผู้คิดค้นท่าวิ่งแบบ pose method หลักการคือ pose fall pull ยืนในตำแหน่งขาเดียวที่ตั้งตรงรักษาสมดุล ล้มไปข้างหน้า แล้วยกขาข้างที่อยู่บนพื้นขึ้นมาใต้ก้น ให้ทำแบบนี้วนไปเรื่อยๆ อธิบายหลักการท่าวิ่ง เป็นบทๆไป การยืดเหยียด การ drill  พร้อมภาพค่อนข้างเยอะ แถมตารางฝึกสำหรับ 5k ถึง marathon ให้ 1 ตาราง ใช้รวมกันได้หมด โดยวิ่งสัปดาห์ละ 3 วัน มาราธอนยาวสุด 16 สัปดาห์


วามรู้สึกหลังอ่าน

เล่มนี้ผมอ่านมาประมาณ 2 ปีที่แล้ว ลองฝึกดู วิ่งไม่มีอาการบาดเจ็บใดๆ แต่ขาดความเร็ว และเมื่อลองศึกษาเพิ่มเติมดูคิดว่า ไม่ถูกหลักท่าการวิ่งที่ถูกต้อง การวิ่งแบบ pose method ใช้หลักการที่อ้างว่าแรงโน้มถ่วงจะดึงเราล้มลงไปข้างหน้า ยิ่งเอียงตัวมากสุดคือ 22.5 องศา ก็จะยิ่งเร็วมากที่สุด ยังพูดถึง Usain Bolt ว่าที่วิ่งเร็วที่สุดเพราะเอียงตัวได้มากกว่าคนอื่น ซึ่งหากไปค้นหาวิดีโอ slow motion ของ Usain Bolt ดูจะเห็นได้ว่า หลังผ่านระยะ dive phase ประมาณ 30 เมตร จากเส้น start ลำตัวจะเริ่มตั้งตรง เอียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น พร้อมกับหนังสือของ Bolt ที่ผมเคยรีวิว Faster than lightning my story เองยังบอกว่า push push เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่หลักการ pull อย่างที่ pose method ใช้ อีกทั้ง นักวิ่งในกลุ่ม elite มาราธอน เกือบทุกคนเมื่อดูภาพช้า จะมี hamstring ที่ยืดไปข้างหลังจนสุด ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากใช้การ pull เข้าหาตัวเอง

นอกจากนี้ผมได้เข้าไปอ่านในเว็บไซต์ natural running ของ Dr. Mark Cucuzzella ก็อธิบายว่า pose running ผิดหลักการอย่างไร แต่รายละเอียดเยอะมากจึงไม่ขอยกมากล่าวในที่นี้  เล่มนี้สำหรับผู้ที่จะฝึกการวิ่งที่ถูกต้องผมไม่อยากแนะนำครับ 

ตะแนน 4/10

วันพุธที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2560

heatstroke โรคลมแดด

heatstroke ฮีทสโตรก โรคลมแดด

ช่วงนี้อากาศร้อน มักจะมีข่าวเกี่ยวกับโรคลมแดด หรือ heatstroke ซึ่งก็คือ ร่างกายหมดสติลงเมื่ออุณหมภูมิในร่างกายสูงขึ้นมากกว่า 41 องศาเซลเซียส บางที่ก็ว่า 40 องศาเซลเซียส 

เราจะรู้ได้ยังไงเมื่อเห็นคนล้มลงขณะออกกำลังกายว่าเป็น heatstroke หรือ heart attack (หัวใจวาย)
วิธีการแยกแยะ ถ้าเป็น heatstroke ชีพจรจะเต้นสูงกว่า 100 คร้ัง และหายใจถี่ๆ แต่ heart attack คือหัวใจจะหยุดเต้นไปเลย ไม่หายใจ จับชีพจรไม่ได้

heatstroke โรคลมแดด credit tophealthylife.com

วิธีการช่วยเหลือ

ทำยังไงก็ได้ให้อุณหภูมิร่างกายลดเหลือที่ 38 องศาให้เร็วที่สุด ถ้าอยู่กลางแดดให้รีบพาเข้าที่ร่ม ถ้ามีอ่างแช่ตัวที่ใส่น้ำกับน้ำแข็งไว้แล้ว กรณีอยู่ในการแข่งขัน เช่น อัลตร้าสวนพฤกษ์ 10 ชั่วโมง ให้ยกตัวลงแช่เลยประมาณ 3-6นาที ปกติร่างกายจะอุณหภูมิลดลง 0.5-1 องศาเซลเซียสต่อ 1 นาที ดังนั้นไม่ควรให้แช่นานเกินไป เดี๋ยวจะกลายเป็นภาวะร่างกายสูญเสียความร้อน ถ้าไม่มีให้เอาถุงน้ำแข็งมาประคบหรือเอาน้ำเย็นราดส่วนลำตัว หากหาน้ำแข็งไม่ได้จริงๆใช้พัดลมช่วยเป่าจะช่วยได้แต่อุณหภูมิจะลดลงช้ากว่าเอาตัวลงแช่ถังน้ำแข็งประมาณ 4 เท่า เมื่ออุณหภูมิร่างกายอยู่ที่ 39 องศาเซลเซียส โดยมากจะกลับมารู้สึกตัวอีกครั้ง ให้จิบน้ำเย็น แต่อย่าให้มากเกินไป 
สุดท้ายหากยังไม่ได้สติอีกให้นำส่งโรงพยาบาล

ข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ lore of running Tim Nokes,MD

วันจันทร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2560

วิธีรักษา it band ปวดเข่าด้านนอก

วิธีการรักษา ITBS หรือ iliotibial band syndrome

อาการของ it band syndrome ก็คือการปวดเข่าด้านนอก (ฝั่งนิ้วก้อย) จะสังเกตได้ว่าเมื่องอเข่ามุมประมาณ 45 องศา จะรู้สึกเจ็บ ถ้ามากกว่านั้นก็คือเมื่อเราวิ่งไปสักพักจะเจ็บข้างเข่าด้านนอก มากขึ้นเรื่อยๆ จนเราจะรู้สึกว่าอยากที่จะหยุดวิ่ง หรือการก้าวลงบันได บางคนก็อาจจะรู้สึกได้เหมือนกัน
อาการนี้เวลาเดินจะไม่รู้สึกเจ็บ เหมือนว่าอาการจะหายไป แต่เมื่อกลับมาวิ่งแล้วยังเจ็บเหมือนเดิม
การฝืนที่จะวิ่งต่อแล้วคิดว่ามันจะหายได้เอง เป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง แถมยังจะทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิม
it band syndrome credit homesweetgym.com

สาเหตุเกิดจากการที่วิ่งแล้วขามันพยายามเอียงเข้าด้านใน อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ รองเท้าสึกมาก วิ่งบนพื้นเอียง หรือวิ่งลู่วิ่งอยู่ด้านเดียวตลอด  กล้ามเนื้อสะโพกไม่แข็งแรงพอ

ผมเคยเกิดอาการเจ็บ it band สมัยปีแรกที่หัดวิ่ง ตอนนั้นพัก 2 อาทิตย์ กลับมาวิ่งใหม่ก็ไม่หาย เริ่มหาข้อมูลจากเวปต่างประเทศ รวมถึงใช้ foam roller ออกกำลังกายสะโพกเพิ่มขึ้น รวมเป็นเวลา 1 เดือนก็ไม่หาย อาการหนักของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนเป็น 2 อาทิตย์ บางคนยาวถึง 6 เดือน จนกระทั่งไปเจอวิธีหนึ่งใน runners' world บอกว่า วิธีรองสุดท้ายก็คือไปฉีด cortisone  

ผมก็เริ่มหาต่อว่าไอ้ cortisone นี่ มันคือ steroid ชนิดหนึ่งที่ใช้ในการรักษานักกีฬา นักวิ่งอย่าง Dathan Ritzenhein นักวิ่งมาราธอน 2:07 ชั่วโมง ยังฉีด แถมบอกด้วยว่าควรจะรีบฉีดแต่เนิ่นๆ ไม่ควรปล่อยให้มันเรื้อรัง
cortisone steroid มันไม่ได้เป็นสารกระตุ้นแบบ anabolic steroid ที่ถูกห้ามใช้ในการแข่งขัน แต่ตัวมันก็มีข้อเสียคือ มันจะไปทำลายเนื้อเยื่อในตำแหน่งที่ฉีด ทำให้ พวกเส้นเอ็น อ่อนแอลง ฉีดได้ไม่ควรเกิน 4 ครั้งต่อปี ผมเลยตัดสินใจไปหาหมอแล้ว คุณหมอดูว่าตำแหน่งนี้สามารถฉีดได้ หลังจากฉีดมันจะหน่วงๆเจ็บนิดหน่อย แล้วหยุดพัก 72 ชั่วโมง จากนั้นก็กลับมาวิ่งได้ตามปกติ คราวนี้ 3 เดือนถัดมาเป็นอีกข้าง พัก 2 อาทิตย์ ไม่หาย ตัดสินใจไม่รอต่อ ไปหาหมอขอให้หมอฉีดอีกข้างครับ

หลังจากนั้นก็ไม่เคยกลับมาเป็นอีกเลย จนถึงปัจจุบัน จึงมาแชร์ข้อมูลสำหรับคนที่พักแล้ว พยายามลองหาวิธีรักษาแล้วไม่หายสักที

Review running with the kenyans

รีวิว RUNNING WITH THE KENYANS 


เล่มนี้ ผู้แต่งซึ่งเป็นนักวิ่งด้วยได้ย้ายไปอยู่ที่เคนย่า เพื่อเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับหมู่บ้านที่มีนักวิ่งทั้งชาวเคนย่าและต่างชาติระดับแนวหน้าของหลายประเทศมาทำการฝึกที่นี่ ทำไมต้องเป็นที่นี่เพราะว่าระดับความสูงพอเหมาะที่จะทำให้ร่างกายปรับตัว ให้เม็ดเลือดแดงเพิ่มมากขึ้นเพราะอากาศที่เบาบาง ทำไมนักวิ่งชาวเคนย่าถึงมีนักวิ่งระดับโลกมากมาย เล่าเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของนักวิ่ง การพยายามที่จะวิ่งเพื่อจะได้มีโอกาสไปแข่งที่ต่างประเทศ และการพัฒนาการของผู้แต่งเองที่ได้จากการฝึกขณะที่ไปหาข้อมูลที่หมู่บ้านนี้


ความรู้สึกหลังอ่าน

เขียนได้สนุกมาก ไม่เหมือนอ่านหนังสือประเภทสารคดี เนื้อเรื่องไม่น่าเบื่อ ให้ความรู้ใหม่ในหลายๆเรื่อง มีการสัมภาษณ์นักวิ่งระดับ elite ของเคนย่าหลายคน   ทำให้ได้รู้ว่าปกตินักวิ่งชาวเคนย่าใช้ชีวิตประจำวันกันแบบไหน ตื่นเช้ามาวิ่ง กลับไปนอน ตอนสี่โมงเย็นมาวิ่งอีกรอบ กลับไปดูทีวี สองทุ่มนอน คือไม่สามารถทำงานประจำได้เลย เพราะว่าร่างกายจะเหนื่อยเกินไป บางคนต้องยืมเงินญาติมาเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย นอนแบบมีแค่แสงเทียน เพื่อหวังว่าวันนึงจะมีโอกาสไปแข่งแล้วชนะ มีชวนนักวิ่งเด็กชายและหญิงมาร่วมซ้อมวิ่งด้วย มีพัฒนาการที่ดี ทำให้รู้สึกมีอารมณ์ร่วมไปกับหนังสือ  เล่มนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ The British Sports Book ปี 2013 อีกด้วย 

คะแนน   10/10

วันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2560

hotshot เครื่องดื่มแก้ตะคริว

 เนื่องจากผมได้อ่านบทความหนึ่งที่มี 2 ดร. คือ Dr. Rod Mackinnon และ Dr. Bruce Bean ได้ผลิตเครื่องดื่มสำหรับแก้ตะคริวออกมา แถม Dr. Rod เคยได้รับรางวัลรางวัลโนเบล สาขาเคมี อีกด้วย

ทำให้คิดว่าพอจะน่าเชื่อถือได้ เลยลองสั่งจากอเมริกาผ่านบริษัทชิปปิ้ง ซึ่งขนาดที่มีขายมีอยู่ 2 ขนาด คือ 6 ขวด 35$ และ 12 ขวด 65$ ขวด 1.7oz ประมาณ 50 มิลลิลิตร  ผมสั่งแบบ 6 ขวดมาลองดูก่อน เพราะไม่แน่ใจว่ากินแล้วจะรสชาติเป็นแบบไหน มีอาการข้างเคียงอะไรบ้างหรือเปล่า ซึ่งมีนักกีฬาหลายคนใช้ทั้ง นักกีฬามาราธอน shalane flanagan ,amy cragg นักกีฬาวิ่งข้ามรั้วเหรียญเงิน olympic Evan Jager นักไตรกีฬา แชมป์โลก 3 สมัย ระยะ Ironman Craig Alexander และอีกหลายๆคน ซึ่งเครื่องดื่มนี้ผ่านการทดสอบว่าไม่มีสารกระตุ้นที่ถูกห้ามใช้ในการแข่ง

หลักการก็คือตัว hotshot จะไปกระตุ้นเส้นประสาท ที่ทำงานผิดเพี้ยนไป ให้กลับมาปกติเหมือนเดิม
รายละอียดใน link จะอธิบายขั้นตอนโดยละเอียด
http://www.teamhotshot.com/wp-content/uploads/2017/02/HS_White_Paper_Digital_020217.pdf


ผมเองพยายามหาโอกาสใช้ในการซ้อมตอนก่อนแข่งมาราธอน ซ้อม 30 กิโลหลายครั้งและ ยาวสุดที่ 34 กิโล แต่ไม่เคยเป็นตะคริว เลยตัดสินใจลองกินดูก่อนว่ารสชาติพอทานได้หรือเปล่า และทำให้ท้องเสียหรือเปล่า ลองทานดูก็รสชาติออกหวานแต่ติดเผ็ดที่ปลายลิ้น ซึ่งรสชาติไม่ได้แย่เหมือนที่อ่านรีวิวจากต่างประเทศ ส่วนรสเผ็ดนั้นก็ไม่มาก เพราะคนไทยทานเผ็ดเก่งอยู่แล้ว เลยตัดสินใจลองพกไปดูในวันแข่งมาราธอน วันวิ่งจริงตะคริวเริ่มมาประมาณกิโลที่ 32 มาตอดเป็นช่วงๆ พอมาแล้วผมกินเลย แต่กินประมาณ 1 ใน 3 ไม่เกิน 2 นาที ตะคริวหายไปแต่กลับมาอีก ตอนกิโลที่ 34 ผมกินอีก 1 ใน 3 แล้วไม่เกิน 2 นาทีก็หาย แล้วมาซ้ำตอนกิโลที่ 37 หลังจากนั้นก็กินหมด แล้วผลเหมือนเดิมตะคริวหายไป พอตะคริวมาอีกกิโลที่ 39 ไม่มี hotshot ให้กินแล้ว ตะคริวจับเป็นก้อน จนผมต้องล้มลงนอน พอยืดจนหาย วิ่งไปอีกกิโลก็เป็นอีก ผมนอนยืดอยู่สักพัก พอหายผมผ่อนความเร็วแล้วค่อยๆประคองตัวเข้าเส้นชัย 

ถามว่ามันทำให้หายได้จริงมั๊ย หายได้จริง แต่ก็กลับมาเป็นซ้ำได้เหมือนกัน ไม่ได้กินแล้วจะหายไปตลอด
อันนี้ผมเคยอ่านรีวิวของนักจักรยานเมืองนอกก็บอกประมาณนี้ ถ้าถามว่าคุ้มมั๊ย อันนี้ต้องแล้วแต่ความคิดของแต่ละคน 1 ขวดตกประมาณ 300 บาท ตอนนี้ยังไม่มีขายในไทย หากมีบริษัทนำเข้ามา น่าจะราคาต่ำกว่านี้อีกนิดหน่อยครับ

วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2560

วิ่งแล้วเป็นตะคริว

ตะคริวตอนออกกำลังกาย เกิดจากเส้นประสาทในกล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ เมื่อเกิดการหดตัวแล้วไม่คลายตัวออก มักจะเกิดในคนที่พยายามวิ่งไกลขึ้นหรือเร็วกว่าปกติที่เขาเคยชิน นอกจากนี้ผู้ที่มีความเสี่ยงจากตะคริวก็มี อายุที่มากขึ้น มีประวัติการวิ่งยาวนาน น้ำหนักตัวเยอะ ไม่ค่อยยืดเหยียด และประวัติที่ครอบครัวเคยเป็นตะคริว


ม่พบหลักฐานว่า การขาดอิเลคโทรไลท์ มีส่วนในการเป็นตะคริว หรือการกินพวกเกลือแร่ โซเดียมคลอไรด์ แมกนีเซียม  สังกะสี ก็ไม่ช่วยช่วยป้องกันตะคริวได้ การขาดน้ำก็ไม่เกี่ยวข้อง แต่ถ้ากินน้ำมากเกินไป กลับมีโอกาสเพิ่มการเป็นตะคริวได้

ปัจจัยแรกที่จะช่วยให้ลดการเป็นตะคริวลงได้คือฝึกซ้อมให้มากพอสำหรับนักวิ่งระยะไกล กินน้ำและคาร์โบไฮเดรตให้พอ และพยายามอย่าวิ่งเร็วในช่วงแรก

อีกปัจจัยก็คือทำการยืดเหยียดให้มากพอก่อนออกกำลังกาย หรือระหว่างการออกกำลังกาย

ส่วนข้อมูลใหม่ที่จะช่วยแก้ตะคริวได้ก็คือกินน้ำแตงกวาดอง (pickle juice) เพื่อช่วยกระตุ้นเส้นประสาทที่ผิดปกติให้กลับมาทำงานได้ปกติ นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ทำออกมาแก้ตะคริว เดี๋ยวคราวหน้าผมจะมา review เครื่องดื่มยี่ห้อนี้ครับ

ข้อมูลบางส่วนจาก lore of running by Tim Noakes, MD

วันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2560

Review Hansons Marathon Method


รีวิวหนังสือ Hansons Marathon Method by Luke Humphrey with Keith & Kevin Hanson


หนังสือเล่มนี้อธิบายคร่าวๆ ถึงร่างกาย การซ้อม การกิน การเตรียมตัวก่อนวิ่ง การยืดเหยียดกล้ามเนื้อการเลือกรองเท้า และการพักฟื้นหลังแข่งขัน โดยมีความคิดที่ว่า ไม่ควรวิ่งไกลเกิน 16 ไมล์ ( 25.6 กิโลเมตร)
ทุกอย่างจะใช้หน่วยเป็นไมล์หมด เราต้องเอา1.6 คูณเองเพื่อให้เป็นกิโลเมตร ตารางฝึกจะยาว 18 สัปดาห์ และแบ่งเป็น 2 ตารางคือแบบพื้นฐานและแบบขั้นสูง โดยจะวิ่ง 6 วันต่อสัปดาห์ และจะบอกเพซที่ควรวิ่งอยู่ในความเร็วเท่าไร สำหรับการซ้อมและแข่ง หากต้องการจะจบมาราธอนในเวลาที่ตั้งใจไว้



ความรู้สึกหลังอ่าน

ต้องบอกว่าผมใช้เล่มนี้ฝึกวิ่งมาราธอนแรกของผม แล้วมันจบได้แย่มาก บทความต่างประเทศยังบอกว่า 26 กิโลเมตร มันเป็นจุดเริ่มต้นของการวิ่งยาว ถ้าเราหยุดแค่ 26 กิโลเมตรแปลว่าเราหยุดขณะที่เรากำลังจะเริ่มวิ่งยาว ซึ่งเป็นหัวใจในการซ้อมมาราธอน แม้แต่ตารางการฝึกท้ายเล่มของผู้แต่งหนังสือเองก็ยังวิ่งยาว 32 กิโลเมตร ซึ่งขัดกับคำแนะนำในหนังสือ ยังไม่รวมการฝึกวิ่งทั้งเช้าและเย็นเพิ่มเข้าไปด้วย

ผมคิดว่าเล่มนี้เป็นแค่การตลาดมากกว่า สำหรับคนที่อยากวิ่งน้อย ไม่มีเวลา แต่อยากจะจบมาราธอน
เล่มนี้ไม่แนะนำครับ

คะแนน 5/10